ขอเชิญร่วมรับชมละครเวทีเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทั้ง 9 เรื่องจาก 9 มหาวิทยาลัย "เสียงแห่งความจงรักภักดี : Sounds of Love" เนื่องในโอกาสมหามงคลเสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติครบ 70 ปี 9 มิถุนายน 2559
เวลาในการแสดง 1 ชั่วโมง 30 นาที สถานที่ หอประชุมมหาวิทยาลัยศิลปากร วังท่าพระ สำรองที่นั่ง จำนวน 3 รอบ รอบละ 300 ที่นั่ง วันที่ 15 ตุลาคม 2559 เวลา 18.00 น. วันที่ 16 ตุลาคม 2559 เวลา 14.00 น. และ 18.00 น.
"Stories can Inspire, Stories can Teach and Good Stories convince." โครงการศิลปะการแสดง ชุด "แรงบันดาลใจ...แรงบันดาลไทย" เป็นการแสดงที่จะเล่าเรื่องราวประชาชนคนธรรมดาในนามของคนศิลปากรที่เกิด “แรงบันดาลใจ” จากพระราชกรณียกิจของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจนนำไปสู่ "การลงมือทำ" บางสิ่งบางอย่างที่มีคุณค่าและความหมาย เพื่อสะท้อนภาพความยิ่งใหญ่ของมนุษย์ธรรมดาคนหนึ่งที่เราทุกคนสามารถลงมือทำบางสิ่งบางอย่างได้จริง โดยยึดโยงกับความจงรักภักดีที่พวกเรามีต่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในฐานะที่พระองค์ทรงเป็น “แรงบันดาลไทย” ให้แก่ประเทศชาติและพสกนิกรของพระองค์ นอกจากนี้เรื่องราวของชาวศิลปากรที่ลงมือทำเรื่องเล็กๆที่ยิ่งใหญ่นี้ยังจะแสดงให้เห็นถึงการ "ส่งต่อ" แรงบันดาลใจจากพวกเขาสู่ผู้คนในสังคมโดยเฉพาะเยาวชนชาวศิลปากรต่อไปอย่างไม่รู้จบ ผ่านผลงานศิลปะและการสร้างสรรค์ที่เป็นศักยภาพสำคัญของชาวศิลปากร ในการดำเนินโครงการศิลปะการแสดง ชุด "แรงบันดาลใจ...แรงบันดาลไทย" คณะทำงานประกอบด้วย คณาจารย์และนักศึกษาจากคณะวิชาต่างๆในมหาวิทยาลัยศิลปากร อาทิเช่น คณะจิตรกรรมประติมากรรมและภาพพิมพ์ คณะมัณฑนศิลป์ คณะอักษรศาสตร์ และคณะดุริยางคศาสตร์ เพื่อระดมความคิดในกระบวนการผลิตและสร้างสรรค์การแสดงแบบมีส่วนร่วม
เวลาในการแสดง 60-90 นาที สถานที่ โรงละครคณะศิลปกรรมศาสตร์มหาวิทยาลัยราชภัฎสวนสุนันทา สำรองที่นั่ง จำนวน 6 รอบ รอบละ 170 ที่นั่ง วันที่ 28 , 29 และ 30 ตุลาคม 2559 เวลา 13.00 น. และ 17.00 น.
"เด็กเรียนการละครถ่ายทอดความรู้สึกต่อพ่อของแผ่นดินด้วยวิธีที่พวกเขาถนัดที่สุด" จากแรงบันดาลใจที่เหล่านักศึกษาสาขาวิชาศิลปะการแสดงได้รับจากศิลปินผู้เคยถวายงานในหลวงและมีในหลวงเป็นแรงใจในการสร้างสรรค์ผลงาน พวกเขาต่อยอดด้วยการค้นคว้า พูดคุย แลกเปลี่ยนความคิด จนเกิดเป็นละครเวทีที่ถ่ายทอดเรื่องราวของ 4 ชีวิต ซึ่งเป็นตัวแทนของพสกนิกรชาวไทยที่เทิดทูนพ่อหลวงของแผ่นดิน ฟ้า หญิงสาวผู้เรียนรู้บทเรียนสำคัญของชีวิตจากการวาดภาพพระบรมสาทิสลักษณ์, ตะวัน เด็กหนุ่มผู้เคยหมดหวังกับชีวิตแต่กลับมามีความสุขอีกครั้งดังเพลงพระราชนิพนธ์ ‘ยิ้มสู้’, เพนนี นักศึกษาชาวดอยผู้กำลังปรับตัวเข้ากับเมืองกรุงและปรัชญาชีวิตของแม่ที่เธอไม่เคยเข้าใจ และ ผิงผิง อดีตชาวจีนอพยพผู้ผ่านความลำบากยากเย็นมากมาย จนวันนี้ความรู้สึกที่มีกับพ่อหลวงของไทยคือ รัก...เพราะไม่มีเหตุผลอะไรที่จะไม่รัก เรื่องราวของทั้ง 4 ตัวละคร สอดประสานอยู่ภายในละครเวทีชุด “เสียงจากเยาวศิลปิน” ผลงานที่เด็กการละคร มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทาอยากแสดงออกซึ่งความรู้สึกที่พวกเขามีต่อในหลวงของเราด้วยวิธีที่พวกเขารักและถนัดที่สุด
เวลาในการแสดง 1 ชั่วโมง 30 นาที สถานที่ Black Box Theatre มหาวิทยาลัยกรุงเทพ (วิทยาเขตรังสิต) สำรองที่นั่ง จำนวน 3 รอบ รอบละ 200 ที่นั่ง วันที่ 24 , 25 และ 26 พฤศจิกายน 2559 เวลา 18.00 น.
"ดุจแสงเทียนของลูก ดุจแสงเทียนของแผ่นดิน" แสงเทียน นักศึกษาสาวชั้นปีที่ 4 เกิดในครอบครัวคนชั้นกลางของกรุงเทพมหานคร พ่อของเธอเป็นนายทหาร แม่เป็นแม่บ้าน ภายใต้ "ความว่าง่าย" และดูเสมือน "ลูกที่ดี" ของเธอนั้น แฝงไว้ด้วยข้อขัดแย้งลึกๆระหว่างเธอกับพ่อ ทั้งอาชีพทหารที่เธอและสังคมกำลังตั้งคำถามว่าแท้จริงแล้วมีเพื่ออะไร การศึกษาที่เธอต้องเลือกเรียนสาขา “เกษตรกลวิธาน” ตามที่พ่อวางแผนให้ เพราะพ่อเชื่อว่าวิชาทางเกษตรศาสตร์คือรากเหง้าของชาวไทย ทั้งยังช่วยพัฒนาและดูสิ่งแวดล้อมต่าง ๆ ให้ดีขึ้น ทั้ง ๆ ที่ใจจริงแสงเทียนใฝ่ฝันอยากเป็นนักร้องชื่อดังตามพรสวรรค์ของเธอ แต่พ่อของเธอมีความเห็นขัดแย้งและมักตำหนิว่าเธอหลงใหลไปตามกระแสทุนนิยม สังคมวัตถุนิยมกำลังหลอมคนไทยให้ลืมนึกถึง "แก่นแท้แห่งคุณค่า" ในหน้าที่ ในทุกอาชีพ แม้แต่ "ศิลปิน" หลายครั้งที่แสงเทียนกับพ่อมีความคิดที่ขัดแย้งกัน ปณิธานอันแตกต่างและทวีความรุนแรงมากขึ้นภายในจิตใจ เธอเชื่อว่าเธอเติบโตพอจะ "ปกครองตัวเองได้" เธอจึงเลือกสมัครเข้าประกวดในรายการร้องเพลงรายการหนึ่งทางโทรทัศน์ เพื่อพิสูจน์ให้พ่อประจักษ์ในทางเลือกเธอของเธอ เธอเลือกจะมีชีวิตของตัวเองเลือกชีวิตที่ฉาบด้วยแสงสี ชื่อเสียง เงินทองจากการ "ร้องเพลง" แบบที่คนอยากฟัง สุดท้ายทางเลือกของแสงเทียนก็นำมาซึ่งผลลัพธ์อันไม่อาจหวนกลับและทำให้เธอได้ตระหนักถึง “คุณค่าในปณิธาน” ของพ่อเป็นครั้งแรก
เวลาในการแสดง 2 ชั่วโมง 30 นาที สถานที่ ศาลาดนตรีสุริยะเทพ มหาวิทยาลัยรังสิต สำรองที่นั่ง จำนวน 3 รอบ รอบละ 1,100 ที่นั่ง วันที่ 13 , 14 และ 15 มกราคม 2560 เวลา 14.30 น.
“Super hero of the world” ละครเวทีแนวแฟนตาซีเชิงวิทยาศาสตร์ในโลกอนาคต (Sci-fi) ร้อยเรียงเรื่องราวเชื่อมโยงกับความภักดีของประชาชนที่มีต่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว นำเสนอในรูปแบบใหม่ที่ไม่ซ้ำใคร โดยใช้การแสดงแบบร่วมสมัยผสมผสานเข้ากับเทคนิลมัลติมีเดีย สื่อสารผ่านบทเพลงอันไพเราะจากวงออร์เคสตรา (Orchestra) อันเลื่องชื่อของมหาวิทยาลัยรังสิต โดยนำเสนอเรื่องราวของโลกอนาคตที่ถูกภัยพิบัติจากธรรมชาติกลืนกลิ่น ผู้คนอพยพไปอยู่ยังดาวดวงใหม่หลงลืมโลกและอดีต มีเพียงผู้เดียวเท่านั้นที่เป็นดั่งวีรบุรุษที่จะทุกช่วยคนให้หลุดพ้นจากอันตรายในครั้งนี้ ผู้ที่คิดค้นในวิทยาการต่างๆ เพื่อปกป้องมวลมนุษยชาติ ผู้ที่ไม่ได้เป็นเพียงวีรบุรุษของคนไทยแต่เป็นวีรบุรุษของคนทั้งโลกจะเป็นใครไปมิได้นอกจาก “พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช” ซึ่งนับเป็นพระมหากรุณาธิคุณอันหาที่สุดมิได้ นอกจากนี้ผู้ชมจะได้รับทั้งความบันเทิงและแง่คิดมุมมองในการใช้ชีวิตต่างๆ ผ่านการถ่ายทอดเรื่องราวและอารมณ์ ความรู้สึกของตัวละคร
เวลาในการแสดง 1 ชั่วโมง 30 นาท สถานที่ หอประชุมใหญ่ มหาวิทยาลัยราชภัฎบ้านสมเด็จเจ้าพระยา สำรองที่นั่ง จำนวน 3 รอบ รอบละ 500 ที่นั่ง วันที่ 18 , 19 และ 20 มกราคม 2560 เวลา 14.30 น.
มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยาร่วมเป็นส่วนหนึ่งเปล่งเสียงแห่งความจงรักภักดี จัดแสดงละครเวทีเรื่อง เสียงของพ่อ เปิดบันทึกแห่งความทรงจำ เชื่อมโยงโครงการพระราชดำริที่พลิกฟื้นชีวิตเกษตรกร สร้างอาชีพ สร้างรายได้ สร้างผืนแผ่นดินทำมาหากินให้กับปวงประชาชนชาวไทย หากเพียงกาลเวลาได้ล่วงเลยไป เราคนไทยอาจจะหลงลืมอะไรบ้างอย่างไป ละครเวทีเรื่องนี้จะเตือนใจให้กลับมาเดินตามรอยเท้าพ่ออีกครั้งหนึ่ง ปณิธานอันแรงกล้า ความตั้งใจ เป้าหมายชีวิต และครอบครัว คือหน้าที่หลักของ “พ่อ” ผู้นำของบ้านต้องเผชิญกับปัญหาต่างๆ ลูก คือ ความหวังของพ่อ เมื่อลูกไม่เข้าใจความรู้สึก ความคิด ความตั้งใจของพ่อแล้ว ความขัดแย้ง ความไม่เข้าใจ จึงทำให้เกิดเรื่องราวของ...พ่อ... ที่ได้ถูกบันทึกไว้กลายเป็น “เสียงของพ่อ” ร่วมพิสูจน์ความรักของพ่อ ร่วมเป็นส่วนหนึ่งของประสบการณ์ละครเวทีเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ณ มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา ดำเนินสร้างสรรค์โดย สาขาวิชาการโฆษณาและธุรกิจบันเทิง คณะวิทยาการจัดการ
เวลาในการแสดง 1 ชั่วโมง 30 นาที สถานที่ หอประชุมใหญ่ ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย สำรองที่นั่ง จำนวน 3 รอบ รอบละ 950 ที่นั่ง วันที่ 25 มกราคม 2560 เวลา 14.30 น. วันที่ 26 มกราคม 2560 เวลา 14.30 น. และ 19.30 น.
เรื่องราวของกลุ่มนักศึกษาศิลปะการแสดง ที่ต้องการเข้าร่วมเทศกาลศิลปะการแสดงนานาชาติ โดยพยายามผสมผสานนาฏศิลป์ไทยเข้าด้วยกัน แต่ไม่สามารถทำได้เพราะขาดทักษะการแสดงของไทย ก็อต เป็นนักแสดงที่ทักษะการแสดงที่สูงที่สุดในกลุ่มแต่กลับไม่เห็นด้วนในความคิดดังกล่าว จึงถอนตัวออกจากทีมทั้งๆที่เขามีทักษะทางนาฏศิลป์ไทยที่ดีและสามารถช่วยทีมได้ ที่เป็นเช่นนั้นเป็นเพราะ ก็อตถูกบังคับให้ฝึกฝนโขนตั้งแต่เด็ก และเมื่อถูกบังคับจึงต่อต้านมาโดยตลอด จึงไม่ยอมรำ และไม่อยากยุ่งเกี่ยวกับนาฏศิลป์อีกต่อไป กลุ่มนักศึกษาไปขอความช่วยเหลือจากปู่ของก็อต ซึ่งเป็นครูผู้เชี่ยวชาญด้านนาฏศิลป์ไทย ในที่นั้นทุกคนได้เรียนรู้ถึงพระปรีชาสามารถของพระบามสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และเพราะมหากรุณาธิคุณที่ทรงมีต่อเหล่าศิลปิน ปู่เล่าด้วยความปลื้มปิติในวันที่รับพระราชทานครอบจากในหลวง ให้เป็นผู้ประกอบพิธีไหว้ครูและครอบครูโขนละคร แสดงให้เห็นถึงความไว้พระราชหฤทัยให้่ปู่เป็นผู้สืบทอดศิลปะการแสดงของชาติ ก็อตได้เรียนรู้ว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯทรงเป็นอัครศิลปิน ทรงพระปรีชาสามารถ และทรงเป็นแบบอย่างในการดำเนินชีวิตให้แก่ศิลปิน ทำให้ก็อตเกิดความภาคภูมิใจและกลับเข้ากลุ่มอีกครั้ง นำสิ่งที่ได้เรียนรู้มาแก้ไขปัญหาจนสามารถสร้างสรรค์การแสดงที่มีเอกลักษณ์ความเป็นไทยได้สำเร็จ
เวลาในการแสดง 2 ชั่วโมง 30 นาที สถานที่ อาคารหอประชุม ศูนย์ฝึกโรงแรม มหาวิทยาลัยกรุงเทพธนบุรี สำรองที่นั่ง จำนวน 3 รอบ รอบละ 300 ที่นั่ง วันที่ 1 , 2 และ 3 กุมภาพันธ์ 2560 เวลา 19.00 น.
“...การรักษาความยุติธรรมในแผ่นดิน ไม่ควรจะถือเพียงแค่ขอบเขตของกฎหมาย จำเป็นต้องขยายออกไปให้ถึงศีลธรรมจรรยา ตลอดจนเหตุและผลตามความเป็นจริงด้วย...” ความตอนหนึ่ง ในพระบรมราโชวาทในพิธีพระราชทานประกาศนียบัตรของสำนักอบรมศึกษากฎหมายแห่งเนติบัณฑิตยสภา ณ อาคารใหม่ สวนอัมพร วันที่ ๒๙ ตุลาคม ๒๕๒๒ ในการรักษาซึ่งความยุติธรรม ควรจะต้องคำนึงถึง ความรู้สึกและเหตุผลของการกระทำต่างๆ และมองลงไปให้ลึกถึง ความเป็นจริง ความเป็นจริงอันเป็นก้นบึงของความรู้สึกโดยมีฐานของความคิด อคติในใจ ที่ต้องยืนอยู่บนฐานของเหตุผลเพื่อมาตัดสินถูกผิด ลูกสาว หัวหน้าวงโยฯ คือ รูปแบบการนำเสนอ ละครเวทีประกอบละครเพลง โดยการนำบทเพลงพระราชนิพนธ์ มาประพันธ์ในรูปแบบของการแสดงดนตรีของวงโยธวาทิตบนเวทีละคร ผสมกับเรื่องราวที่นำพระบรมราโชวาท เรื่องการรักษาความยุติธรรมในแผ่นดินมาประยุกต์ในการดำเนินชีวิต เรื่องราวของ “ครูเดช” อดีตนักดนตรีใหญ่วงออร์เคสตร้าระดับชาติ ผู้พลาดหวังไม่สามารถก้าวไปสู่การเป็นนักดนตรีระดับโลก และต้องเลือกครอบครัวเพื่อกลับมาดูแลภรรยา ในช่วงเวลาที่ภรรยาป่วย ความผิดหวังในอดีตทำให้ ครูเดช ต้องเรียนรู้ที่จะก้าวต่อไปภายใต้ ภาระรับผิดชอบต่อ ลูกสาวสองคน ปอ กับ ป่าน ที่ต่างคนต่างมีความฝัน ความทะเยอทะยานที่แตกต่างกันออกไป จากความผิดหวังในการเป็นนักดนตรีที่ไปไม่ถึงฝัน มาโดยตลอด ต้องเลือกมาเป็น ครูในโรงเรียนมัธยม ทำให้ เดช เป็นคนเข้มงวดในทางชีวิตของลูก ภาพความสำเร็จของการเป็นนักดนตรีออร์เคสตร้าในวงระดับชาติ จากอดีตจนถึงปัจจุบันที่ผ่านมา เดช เป็นอดีตนักดนตรีที่มีชื่อเสียงโด่งดัง แต่ต้องแปรเปลี่ยนมาเป็น ครูสอนวงโยธวาทิตในโรงเรียนมัธยมศึกษา เขาเลือกภรรยา เลือกครอบครัว แม้ว่าสุดท้ายแล้วภรรยาที่รักจะจากเขาไปในที่สุด แต่ก็ทิ้งลูกสาวสองคนที่เป็นดั่งแก้วตาดวงใจ อย่างไรก็ตาม เขายังผิดหวังในการเป็นนักดนตรีที่ไปไม่ถึงฝัน มาโดยตลอด อย่างไรก็ตาม ภาพความผิดหวังในอดีต ทำให้ ครู เลือกที่จะไม่ให้ ลูกสาวทั้งสองคนเป็นอย่างตนเอง จึงพยายามที่จะควบคุมทุกอย่างในชีวิตลูก แม้แต่ความฝันของ ลูกสาวหัวหน้าวงโยฯ ที่อยากเป็นนักดนตรีตามแบบ พ่อ ก็ยังถูกควบคุม ก่อเกิดเป็นความขัดแย้งภายในครอบครัว พ่อกับลูกสาว ซึ่งที่สุดแล้วจะเป็นอย่างไร ต้องติดตามในละครเวทีเรื่อง ลูกสาว หัวหน้าวงโยฯ
เวลาในการแสดง 1 ชั่วโมง 30 นาที สถานที่ หอประชุมเล็ก ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย สำรองที่นั่ง จำนวน 3 รอบ รอบละ 400 ที่นั่ง วันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2560 เวลา 14.00 น. และ 19.00 น. วันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2560 เวลา 19.00 น.
"สิ่งใดที่มาจากหัวใจ ไม่ว่าจะเล็กหรือใหญ่...มีคุณค่าเสมอ" โดยนำเสนอผ่านเรื่องราว ของหนุมานที่ต้องการตามเสียงสวรรค์บนโลกมนุษย์ จึงได้มาเจอกับคนกลุ่มหนึ่งที่ถ่ายทอดเรื่องราวของพระบาทสมเด็กพระเจ้าอยู่หัวที่ทรงงานมาตลอดชีวิต และในที่สุดหนุมานก็ได้เรียนรู้ว่า เสียงสวรรค์ที่ตามหาไม่จำเป็นต้องมีท่วงทำนองที่ไพเราะ คำประพันธ์ที่งดงาม แต่แท้จริงแล้วมันคือ เสียงที่กินใจ และออกมาจากใจนั้น คือ เสียงแห่งความสุขและมีความหมายอย่างแท้จริง เสียงที่ปวงประชาเปล่งว่า “ทรงพระเจริญ” เพียงคำแค่สามคำ แต่มันแฝงไปด้วยความรัก ความศรัทธา ความกตัญญูต่อชาติแผ่นดิน อย่างมีคุณค่ามหาศาล แต่คำสามคำที่ออกมาจากใจได้นั้น มันผ่านบทพิสูจน์จากพระราชกรณียกิจนานัปการของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวตลอดชีวิตที่เข้าไปถึงใจของปวงประชาทุกๆคน
เวลาในการแสดง 1 ชั่วโมง 30 นาที สถานที่ หอประชุมมงคลอาภา มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลพระนคร (ศูนย์พานิชยการพระนคร/นางเลิ้ง) สำรองที่นั่ง จำนวน 3 รอบ รอบละ 500 ที่นั่ง วันที่ 8 เมษายน 2560 เวลา 13.00 น. วันที่ 9 เมษายน 2560 เวลา 10.00 น.และ 13.00 น.
"กาลเวลาทำให้เราลืมใครสักคน ไปจากใจได้จริงหรือ?" การแสดงศิลปะการแสดง ชุด “เมล็ดพันธุ์เยาวชน ปลูกรักปลูกภักดี” เป็นการแสดงประเภท ละครร่วมสมัย / Contemporary Drama ในปัจจุบันมีหลากหลายรูปแบบ เช่น ละครกระแสหลัก (main stream) ละครเพลง (musical) หรือ ละครขนบเดิมที่นำมาปรับให้รับใช้ยุคสมัยปัจจุบัน เป็นต้น มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลพระนคร ได้รวบรวมศักยภาพของนักศึกษา ทั้ง 9 คณะ ในการสร้างสรรค์กระบวนการผลิตบทละครและโปรดักชั่นแบบมีส่วนร่วม เช่น การออกแบบฉากและอุปกรณ์การแสดง โดยนักศึกษาคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์และการออกแบบร่วมกับคณะวิศวกรรมศาสตร์ การออกแบบเสื้อผ้าในการแสดง โดยคณะอุตสาหกรรมสิ่งทอและออกแบบแฟชั่น การออกแบบสื่อมัลติมิเดีย/VTR ประกอบการแสดง จากคณะเทคโนโลยีสื่อสารมวลชน และ คณะบริหารธุรกิจ อุปกรณ์ประกอบการแสดงและการจัดนิทรรศการสรุปการเรียนรู้จากคณะเทคโนโลยีคหกรรมศาสตร์ คณะศิลปศาสตร์ และ คณะครุศาสตร์อุตสาหกรรม การเก็บข้อมูลแบบประเมินกิจกรรม จากคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เป็นต้น และที่พิเศษ คือ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลพระนคร ได้เชิญ ครูนาย มานพ มีจำรัส ศิลปินเจ้าของรางวัลศิลปาธร สาขาศิลปะการแสดง ประจำปี 2548 และผู้อำนวยการสวนศิลป์บ้านดิน จังหวัดราชบุรี เข้าร่วมโครงการจัดการแสดงศิลปะการแสดงชุด “เมล็ดพันธุ์เยาวชน ปลูกรักปลูกภักดี” ครั้งนี้ ในฐานะ ผู้กำกับการแสดง และครูผู้ฝึกสอนการแสดง อีกด้วย
สืบเนื่องจาก ด้วยรัฐบาล โดย สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ได้กำหนดจัดกิจกรรมเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสมหามงคลเสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติครบ ๗๐ ปี ๙ มิถุนายน ๒๕๕๙ ภายใต้ชื่อโครงการ “ปลูกไทย ในแบบพ่อ” ขึ้น เพื่อเป็นหนึ่งในการดำเนินงาน การจัดกิจกรรมเฉลิมพระเกียรติฯ ดังกล่าว จึงได้จัดให้มีการจัดกิจกรรมละครเวทีเฉลิมพระเกียรติ ขึ้น ในชื่อโครงการ “ละครเวทีเฉลิมพระเกียรติ เสียงแห่งความจงรักภักดี : Sounds of Love” ซึ่งถือเป็นหนึ่งในกิจกรรมภายใต้โครงการ “ปลูกไทย ในแบบพ่อ” โดยมีวัตถุประสงค์ให้สถาบันระดับอุดมศึกษา ทั้งสถาบันของรัฐ และเอกชน สร้างกระบวนการเรียนรู้ให้นิสิต- นักศึกษา ที่เป็นเยาวชนของชาติได้ ค้นคว้า เรียนรู้ และ ซาบซึ้งใน พระราชประวัติ พระราชกรณียกิจและพระปรีชาสามารถที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ทรงปฏิบัติมาตลอดระยะเวลา ๗๐ ปี แล้วนำมาสื่อสารแก่ประชาชน และบุคคลทั่วไป เพื่อแสดงให้เห็นถึงความจงรักภักดี และความสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ ในรูปแบบของละครเวที